logo

เงินเฟ้อคืออะไร ?

เงินเฟ้อ คือ การวัดว่าราคาของสินค้า และบริการที่เพิ่มขึ้น เมื่อเวลาผ่านไป หรือถ้าจะพูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ การที่สินค้าหรือบริการมีราคาที่สูงขึ้นนั้นเอง ซึ่งอัตราเงินเฟ้อ จะเปรียบเทียบราคาของสินค้าและบริการในปัจจุบันกับราคาเมื่อ 1 ปีก่อนหน้า เช่น ปัจจุบันข้าวสาร 1 ถุง ราคา 103 บาท แต่ในปีที่แล้วราคา 100 บาท แปลว่าอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 3%

3 สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อทั่วโลกที่เผชิญอยู่ตอนนี้

1.วิกฤตโรคระบาด COVID-19
การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้เกิดปัญหาการขาดแคลนหมุนเวียนกำลังแรงงาน เพื่อที่หลีกเลี่ยงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้ภาคการผลิตมีกำลังการผลิตลดลง
2.นโยบายทางการเงินของธนาคารกลาง
ผลกระทบจากนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางที่ก่อนหน้านี้มีการอัดฉีดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจ เพื่อลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 และเพื่อให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้ไวที่สุด
3.สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน
เนื่องจากสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนเริ่มบานปลาย ทำให้หลายประเทศมีมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียเพื่อกดดันให้รัสเซียยุติสงคราม รัสเซียที่มีฐานะเป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลกจึงตอบโต้ด้วยการลดกำลังการผลิตน้ำมัน และแก๊สธรรมชาติ ส่งผลให้ราคาพลังงานทั่วโลกพุ่งสูงขึ้น ต้นทุนการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้น เลยทำให้เกิดเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นนั่นเอง

อัตราเงินเฟ้อวัดได้อย่างไร ?

ทุกเดือน กระทรวงพาณิชย์จะเก็บข้อมูลราคาสินค้าและบริการจำนวน 430 รายการ มาคำนวณเป็นดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index: CPI) การเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาผู้บริโภคเทียบกับปีก่อน คืออัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ ธปท. ใช้เป็นเป้าหมาย

อัตราเงินเฟ้อส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจอย่างไรบ้าง ?

ในทางทฤษฎีเศรษฐศาสตร์บอกว่าการที่เงินเฟ้อเล็กน้อยเป็นสิ่งที่ดีต่อระบบเศรษฐกิจ เพราะเมื่อสินค้ามีราคาเพิ่มขึ้นจะช่วยให้ธุรกิจมีแนวโน้มเติบโต จูงใจให้เกิดการลงทุน มีการจ้างงาน มีเงินหมุนเวียนในระบบมากขึ้น
ในทางกลับกันถ้าอัตราเงินสูงขึ้นอย่างมากจะส่งผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจ เพราะ เมื่อสินค้าราคาแพงขึ้นมาก ทำให้ผู้บริโภคซื้อของได้น้อยลง การลงทุนลดลง เนื่องจากต้นทุนสูงขึ้นและความสามารถในการทำกำไรลดลง นโยบายการเงินตึงตัวขึ้นจะเป็นความเสี่ยงต่อภาระหนี้ ที่อยู่ในระดับสูงในหลายประเทศ ประเทศที่นำเข้าสูง มีแนวโน้มขาดดุลเพิ่มขึ้น รายได้ที่แท้จริงลดลง กระทบการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน

เงินเฟ้อส่งผลกระทบต่อราคาทองคำอย่างไร?

ราคาทองคํามักปรับตัวสูงขึ้นเมื่ออัตราเงินเฟ้อส่งสัญญาณปรับตัวสูงขึ้น โดย อัตราผลตอบแทนจากทองคำมักถูกมองว่า สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ เนื่องจากประเด็นทางภูมิรัฐศาสตร์ ประเด็นความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลต่อความไม่แน่นอนที่สูงขึ้น และในบางสถานการณ์ราคาทองคำอาจมีการปรับตัวลดลงจากนโยบายการเงินของเฟด

ทำไมราคาทองคำจึงมีการปรับตัวลดลง ?

เนื่องจากเฟดหรือธนาคารกลางสหรัฐ ต้องการควบคุมเงินเฟ้อให้อยุ่ในระดับที่เหมาะสมและเศรษฐกิจสามารถเติบโตได้โดยไม่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย เฟดจึงได้มีนโยบายเร่งปรับอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อที่พุ่งสูงเกินกว่าที่เฟดคาดไว้ 3 เท่า จากเป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2%
ในสถานการณ์ปัจจุบันเราต้องเผชิญกับปัญหาอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นอย่างมาก ธนาคารกลางมีเครื่องมือหรือกลไกอะไรที่สามารถใช้แก้ปัญหาอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นอย่างมาก ?
ตามหลักเศรษฐศาสตร์ เมื่อเกิดเงินเฟ้อรูปแบบนี้ ธนาคารกลางของประเทศมักจะแก้ปัญหาโดยเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เป็นการดูดซับสภาพคล่องหรือดูดเงินออกจากระบบการเงิน เพื่อให้ภาวะการเงินตึงตัว แล้วธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งก็จะเพิ่มสภาพคล่องของตนเอง โดยการปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากให้สูงขึ้น เพื่อระดมเงินฝากมากขึ้น และปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามต้นทุนที่สูงขึ้นด้วย
การที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากสูงขึ้นจะจูงใจให้คนนำเงินไปฝากธนาคารมากขึ้นและใช้จ่ายน้อยลง ขณะเดียวกัน อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงขึ้นก็ทำให้คนกู้เงินน้อยลง รวมทั้งภาคธุรกิจก็จะมีการกู้เงินมาลงทุนน้อยลงด้วย เมื่อเงินในระบบน้อยลง ความต้องการสินค้าและบริการลดลง จะส่งผลให้ระดับราคาสินค้าลดลง เป็นการชะลอเงินเฟ้อนั่นเอง
นอกจากนั้น การขึ้นดอกเบี้ยจะทำให้สกุลเงินของประเทศนั้นๆ แข็งค่าขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าลดลง ซึ่งจะช่วยลดราคาสินค้าลงได้อีกทางหนึ่ง แต่ขณะเดียวกันก็อาจจะมีการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมาก ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศลดลง

ประเทศใหญ่ๆ ขึ้นดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อแล้ว ทำไมไทยไม่ขึ้น ?

สหรัฐฯ เป็นประเทศแรกๆ ที่ประสบปัญหาเงินเฟ้อสูงเมื่อปีที่แล้ว เนื่องจากเศรษฐกิจฟื้นตัวดี อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ในเดือนเมษายน 2022 อยู่ที่ 8.3 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดในรอบ 40 ปี Fed (Federal Reserve System) ธนาคารกลางของสหรัฐฯ แก้ปัญหาโดยทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแล้วสองครั้ง ครั้งแรกปรับขึ้น 0.25 เปอร์เซ็นต์ ในเดือนมีนาคม และครั้งที่สองในเดือนพฤษภาคมปรับขึ้น 0.50 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ขึ้นมาอยู่ที่ 0.75-1 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มจากเมื่อต้นปีที่อยู่ในอัตรา 0.00-0.25 เปอร์เซ็นต์
ขณะที่สหราชอาณาจักรที่เจอเงินเฟ้อหนักหน่วงถึง 9.0 เปอร์เซ็นต์ นับว่าสูงสุดในรอบ 40 ปี ธนาคารกลางของสหราชอาณาจักร (Bank of England) ก็ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว 3 ครั้ง ครั้งละ 0.25 เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์มาถึงเดือนพฤษภาคม จากเมื่อต้นปีที่อัตราดอกเบี้ย 0.25 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ตอนนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของอังกฤษอยู่ที่ 1.0 เปอร์เซ็นต์
โดยสาเหตุที่ประเทศไทยยังไม่ปรับอัตราดอกเบี้ย เพราะธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) EIC คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายตลอดปีนี้ เนื่องจากยังให้ความสำคัญกับภาวะเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งยังคงเปราะบางและอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าช่วงก่อน โควิด-19 มากกว่าแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจากปัจจัยด้านอุปทานเป็นหลัก นอกจากนี้ ไทยยังมีภาระหนี้ที่สูงขึ้นโดยเฉพาะหนี้ครัวเรือนของไทย ทำให้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มกระทบต่อการบริโภคและการลงทุนมากกว่าในอดีต ดังนั้นคณะกรรมการจึงจะระมัดระวังการปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงที่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังต้องการแรงสนับสนุนต่อไป

รู้หรือไม่?

อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้เงินที่มีซื้อของได้น้อยลง และถ้าวันนี้คุณมีเงินอยู่ 100 บาท นั่นหมายความว่าคุณอาจซื้อข้าวได้แค่ 1 กล่อง จากที่เคยซื้อได้ 2 – 3 กล่องในปีที่แล้ว ดังนั้นควรวางแผนการเงิน การลงทุน หรือการเก็บออมเงินไว้อย่างรอบคอบ

Facebook
Twitter
Email

ข่าวสารเพิ่มเติม

วิเคราะห์ทองคำประจำวันที่ 08/02/2024

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกเล็กน้อยในวันพุธ เนื่องจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์ยังคงเป็นปัจจัยหนุนตลาด ขณะที่นักลงทุนจับตาการแสดงความเห็นของเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เพื่อประเมินแนวโน้มอัตราดอกเบี้ย

อ่านเพิ่มเติม

ราคา XRP พุ่งทำ high ใหม่รอบ 5 เดือนที่ระดับ 0.53 ดอลลาร์ หลังการยื่นฟ้องของ CFTC  ต่อ Binance

เหรียญ XRP ที่เป็นสกุลเงินดิจิทัลของเครือข่าย Ripple ได้มีราคาเพิ่มขึ้นสูงถึง 0.5390 ดอลลาร์ในวันนี้ โดยราคาได้เพิ่มขึ้น 12.80% ในเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ราคาได้ปรับตัวขึ้นกว่า 50% นับตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคมที่ผ่านมา

อ่านเพิ่มเติม