logo

เงินน้อยก็ออมได้

ในยุคข้าวยากหมากแพ้งแพง (ง. ล้านตัว) แค่หาเงินกินให้อิ่ม จ่ายค่าเช่าบ้าน ผ่อนรถให้ไหวก็จะไม่ได้อยู่แล้วเรื่องออมเงินน่าจะเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยอยู่ในแผนการใช้ชีวิตมากเท่าไหร่ แม้จะเป็นเรื่องสำคัญมากก็ตาม

แต่อย่างที่รู้กันว่า เราควรออมเงินเก็บไว้เผื่อไว้หลายอย่างเช่น เจ็บป่วยหรืออยู่ดี ๆ ก็โดนไล่ออก ไม่มีงานทำ หรือหากมองไปให้ยาวอาจจะมีภาระเข้ามาทั้งเรื่องการแต่งงาน เลี้ยงลูก หรือเกษียณอายุการทำงาน หากไม่มีเงินเก็บเงินออมน่าจะยากลำบากพอสมควร

วันนี้มีวิธีดี ๆ ที่จะช่วยวางแผนการออมเงินมาฝากกัน
ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนการเงิน ให้คำแนะนำว่าควรเงินออมอย่างน้อย 10% ของรายได้ โดยการหักไว้ก่อนแล้วนำที่เหลือมาใช้จ่าย เช่นเงินเดือน 15,000 บาท พอเงินเข้าก็เก็บเลย 1,500 บาท เหลือ 13,500 บาทค่อยบริหารจัดการ แต่ด้วยเศรษฐกิจแบบนี้คงยาก

เมื่อเป็นเช่นนั้นการจะมีเงินออมต้องมองไปที่ 2 วิธีคือ
หารายได้เพิ่ม และ ลดค่าใช้จ่ายลง

คำถามคือจะหารายได้อย่างไร ในเมื่อแค่ทำงานอย่างเดียวก็หนักจนไม่มีเวลาพัก กลับบ้านทั้งทีรถก็ติด น้ำก็ท่วม ถึงบ้านก็ ห้าทุ่ม-เที่ยงคืน จะแบ่งเวลาช่วงไหนหามาทำอย่างอื่นเพิ่ม ก็ไม่เป็นไร เพราะการหารายได้เพิ่มอาจต้องใช้เวลาหรือทักษะ รวมถึงความกล้าในการลงทุน ซึ่งต้องค่อย ๆ ศึกษา ดังนั้นก็ต้องมองไปที่ การลดค่าใช้จ่าย

จะลดอะไรก่อน?
เรื่องนี้ต้องมีเครื่องมือช่วยนั้นคือ #การจดบันทึก ซึ่งเราน่าจะเคยได้ยินกันมานานแล้วว่าให้ทำบัญชีรายรับรายจ่าย บัญชีครัวเรือน งบการเงินส่วนบุคคล หรืออะไรก็ได้แล้วแต่จะเรียกเพราะประโยชน์ที่จะได้คือการได้รู้ว่า #สถานะการเงินของเราอยู่ตรงไหน

โดยวิธีการก็ไม่ยาก
เริ่มจากเขียนรายได้มามีเท่าไหร่ หักค่าใช้จ่ายจำเป็นเช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเช่าบ้าน ผ่อนของต่าง ๆ เหลือเท่าไหร่ จากนั้นก็แบ่งเป็นรายวันว่าจะใช้เท่าไหร่ อย่างไร แต่ละวันก็จดสิ่งที่ใช้จ่ายไป เพราะบางทีแผนที่วางไว้อาจไม่ตรงนักเพราะการนั่งนึกนั่งเขียนอาจทำให้ลืมบางอย่างไป

รูปแบบการเขียนทำง่าย ๆ ได้เลย บันทึกในมือถือหรือแอพฯ จดบันทึกไว้ เมื่อว่างก็มาสรุปว่าแต่ละวันเราใช้จ่ายอะไรบ้าง หรือหากอยากได้แบบเป็นวิชาการหน่อยก็หาดูได้ตามยูทูปหรือเว็บไซต์ทางการเงินต่าง ๆ ที่มีสอนมากมาย เกี่ยวกับการจดบันทึกให้ได้ผลต่าง ๆ ซึ่งเรื่องนี้ก็ตามสะดวกของแต่ละบุคคล
.
เมื่อเราจดบันทึกผ่านเดือน หรือผ่านสัปดาห์ก็นำมาสรุปค่าใช้จ่ายเป็นเรื่อง ๆ ว่าอยู่หมวดไหน ไม่ต้องกังวลมาก ให้จดตามที่เข้าใจ (เพราะยังไงเราก็อ่านบัญชีนี้คนเดียว) เมื่อแยกค่าใช้จ่ายแล้วก็จะพอเห็นได้ว่า #เราทำเงินหล่นหรือมีรูรั่วตรงไหน

ในที่นี้ไม่ใช่ทำเงินหาย
แต่เป็นการมองออกว่าเราใช้จ่ายเรื่องใดที่ไม่จำเป็น
เมื่อทราบว่าค่าใช้จ่ายส่วนไหนไม่จำเป็นเริ่มตัดออก เช่นกินบุฟเฟต์เดือนละ 2 ครั้ง ก็ลองคำนวณว่าเหลือครั้งเดียวได้ไหม สังสรรค์กับเพื่อนสัปดาห์ละครั้ง ก็อาจขยับเป็น 2 สัปดาห์ต่อครั้งได้หรือไม่

ไม่แนะนำให้หักดิบ ตัดใจทันที เพราะเหล่านี้คือพฤติกรรมที่เราทำมานาน หากเลิกทันทีก็อาจจะทำให้เกิดการ โยโย่ (เหมือนอดอาหารลดน้ำหนักนั่นแหละ) คือแทนที่จะเก็บกลายเป็นเครียดมากจนเขื่อนความต้องการแตก กลายเป็นใช้เงินมากกว่าเดิม แต่ถ้ามั่นใจว่าหักดิบได้ก็ลองดู

ทำอย่างไรต่อ?

เมื่อทราบค่าใช้จ่ายแล้ว ก็เริ่มลดหมวดหมู่ที่ไม่จำเป็นออก คำนวณว่าเป็นยอดเท่าไหร่ เมื่อเงินเดือนออกก็หักยอดที่คำนวณได้ไว้ออม เช่นค่าใช้จ่ายที่เราจะตัดออกเป็นเงิน 500 บาท เมื่อเงินเดือนออกก็ทำการออมตามจำนวนนั้น แบบนี้จะทำให้เรามีเงินออมโดยไม่กระทบกับค่าใช้จ่ายจำเป็นที่เราต้องจ่าย หรือหากยังไม่มั่นใจก็จดรายละเอียดการใช้เงินของเราต่อไปอีกสักเดือนเพื่อให้มั่นใจว่าค่าใช้จ่ายนั้นไม่จำเป็นจริง ๆ เพื่อทำการตัดออก

เพราะประโยชน์จากการทำบัญชีรายรับรายจ่ายที่แท้จริงคือการได้รู้ตัวเองว่าอยู่จุดไหน
ปรับอะไรเพื่อไม่ให้กระทบกับการใช้ชีวิตปกติของเราเองและครอบครัว
เพราะหากไม่ได้จดไว้ เราอาจจะไปตัดอะไรที่จำเป็นมาออม ซึ่งกลายเป็นว่า
สุดท้ายเราก็ต้องเอาเงินที่ออมมาใช้จ่ายอยู่ดี

ถึงตรงนี้น่าจะพอเข้าใจกันบ้างแล้วว่า #หัวใจของการออมเงิน นั้นคือการเข้าใจวิธีการใช้เงินของตนเอง ร่วมกับวินัย
เริ่มจากหักเงินที่ใช้จ่ายไปกับเรื่องไม่จำเป็นก็อาจทำให้มีเงินเก็บกันได้แล้ว แม้จะยังไม่ 10% ของรายได้ แต่การได้ทำก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี

พอเงินออมพอกพูนสักพัก ก็จะกลายเป็นแรงบันดาลใจให้อยากได้เพิ่มจากทางอื่น เช่นหารายได้เพิ่มหรือนำเงินออมไปลงทุนต่อยอด เป็นต้น

เมื่อฝนตกทีละเม็ดกลายเป็นน้ำขังและท่วมกรุงเทพฯได้
การกินทีละคำก็ทำให้ถาดบุฟเฟต์ที่อยู่ตรงหน้าหายไป

ดังนั้นการออมเงินทีละน้อยก็สร้างกำลังใจ
เป็นจุดเริ่มต้นของวินัยและการบริหารเงินที่ดีในอนาคตได้เช่นกัน

Facebook
Twitter
Email

ข่าวสารเพิ่มเติม

วิเคราะห์ทองคำประจำวันที่ 09/05/2023

FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 83.4% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ย และให้น้ำหนักเพียง 16.6% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมวันที่ 13-14 มิ.ย.

อ่านเพิ่มเติม