ข่าวเกี่ยวกับค่าเงิน และธนาคารกลาง
- ดัชนีดอลลาร์ ปรับตัวขึ้น 0.48 จุด หรือ 0.46% มาอยู่ที่ระดับ 105.12 จุด
- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวลดลง -0.04 % มาอยู่ที่ระดับ 4.614% ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี ปรับตัวลดลง 0.0 % มาอยู่ที่ระดับ 4.975% โดยที่ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปี น้อยกว่า 2 ปี เท่ากับ-0.36% อยู่ในภาวะ inverted yield curve
- ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ สาขาแอตแลนตา (Raphael Bostic) ส่งสัญญาณถึงโอกาสที่จะปรับลดดอกเบี้ยในอนาคต เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แม้ว่าปัจจุบันเงินเฟ้อยังคงเป็นปัญหาที่สำคัญ แต่คาดว่าเงินเฟ้ออาจจะทยอยลดลงในระยะยาว
- ตลาดคาดการณ์ว่า เฟดจะไม่รีบปรับลดอัตราดอกเบี้ย หลังเจ้าหน้าที่เฟดต่างส่งสัญญาณต้องการเห็นเงินเฟ้อชะลอตัวต่อไปอีกหลายเดือน ก่อนที่จะตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ย
- FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพียงครั้งเดียวในปีนี้ โดยจะเกิดขึ้นในเดือนพ.ย. จากเดิมที่คาดไว้ในเดือนก.ย.
- เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ประสานเสียงส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 6 มิ.ย. หาก ECB ปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมวันที่ 6 มิ.ย. ก็จะทำให้ ECB ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าเฟด
- สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า เงินปอนด์พุ่งขึ้น 0.3% แตะที่ 84.84 เพนนีต่อ 1 ยูโร ถือเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนส.ค. 2565 หลังจากข้อมูลเผยว่า อัตราเงินเฟ้อในเดือนพ.ค.ชะลอตัวในหลาย ๆ ภูมิภาคทั่วเยอรมนีเมื่อเทียบกับเดือนเม.ย. ซึ่งส่งสัญญาณว่าธนาคารกลางอังกฤษและยุโรปจะมีทิศทางนโยบายแตกต่างกันมากขึ้น
- นายเซจิ อาดาชิ หนึ่งในกรรมการบริหารของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยในวันนี้ว่า BOJ อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหากการอ่อนค่าอย่างหนักของเงินเยนผลักดันเงินเฟ้อให้สูงขึ้น หรือหากสาธารณชนมีมุมมองว่าเงินเฟ้อจะปรับตัวสูงมากกว่าคาดในอนาคต
ข่าวเศรษฐกิจสำคัญ
- ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 400 จุดในวันพุธ โดยตลาดถูกกดดันจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งความกังวลเกี่ยวกับช่วงเวลาในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
- ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 38,441.54 จุด ลดลง 411.32 จุด หรือ -1.06%
- ดัชนี S&P500 ปิดที่ 5,266.95 จุด ลดลง 39.09 จุด หรือ -0.74% และ
- ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 16,920.58 จุด ลดลง 99.30 จุด หรือ -0.58%
- ผลสำรวจของ Conference Board ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษฐกิจระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 102 ในเดือนพ.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 95.9 โดยได้แรงหนุนจากมุมมองที่ดีขึ้นเกี่ยวกับตลาดแรงงาน แต่ผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูง และครัวเรือนจำนวนมากคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยจะปรับตัวสูงขึ้นในปีหน้า
- เทศบาลนครเซี่ยงไฮ้และเซินเจิ้นได้ปรับลดอัตราส่วนเงินดาวน์ลงสู่ระดับ 20% สำหรับผู้ซื้อบ้านหลังแรก และปรับลดอัตราส่วนเงินดาวน์ลงสู่ระดับ 30% สำหรับผู้ที่ซื้อบ้านหลังที่ 2 พร้อมกับปรับลดอัตราดอกเบี้ยกู้จำนองลงเช่นกัน ส่วนกว่างโจวประกาศว่าจะลดอัตราส่วนเงินดาวน์ลงเหลือเพียง 15% สำหรับผู้ซื้อบ้านหลังแรก และจะผ่อนคลายกฎระเบียบการส่งเงินสมทบประกันสังคมและการจ่ายภาษีส่วนบุคคล ซึ่งกฎระเบียบดังกล่าวเป็นข้อกำหนดสำหรับการซื้อบ้าน หลังจากรัฐบาลกลางของจีนออกมาตรการให้ความช่วยเหลือภาคอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังประสบปัญหา
- กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนสำหรับปีนี้สู่ 5% จากที่เคยคาดการณ์เอาไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะขยายตัว 4.6% โดยได้แรงหนุนจากตัวเลขเศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างแข็งแกร่งในไตรมาส 1/2567 และการออกมาตรการเชิงนโยบายล่าสุดของรัฐบาลจีน
ข่าวเกี่ยวกับทองคำ
- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันพุธ โดยตลาดถูกกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์ และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐที่ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ของสหรัฐในวันศุกร์นี้ เพื่อหาสัญญาณที่ชัดเจนเกี่ยวกับช่วงเวลาในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
- ราคาทองคำตลาดโลก ปรับตัวลดลง -23.13 เหรียญ หรือ -0.98% อยู่ที่ระดับ 2,337.0 เหรียญ
- สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือนมิ.ย. ลดลง 15.30 เหรียญ หรือ 0.65% ปิดที่ 2,341.20 เหรียญ
- สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 23.6 เซนต์ หรือ 0.73% ปิดที่ 32.373 เหรียญ
- สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 18.90 เหรียญ หรือ 1.77% ปิดที่ 1,047.90 เหรียญ
- กองทุนทองคำ SPDR วันก่อนหน้าไม่เปลี่ยนแปลง ปัจจุบันถือครองที่ 832.21 ตันภาพรวมเดือนพฤษภาคม ซื้อสุทธิ 0.02 ตัน ขณะที่ปีนี้ ตั้งแต่ 1 ม.ค. – ปัจจุบัน ขายสุทธิ 46.9 ตัน
ข่าวน้ำมัน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันพุธ เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของอุปสงค์น้ำมันเบนซิน รวมทั้งความกังวลว่าข้อมูลเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผยล่าสุดจะส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงเป็นเวลานานขึ้น
- สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 60 เซนต์ หรือ 0.75% ปิดที่ 79.23 ดอลลาร์/บาร์เรล
- สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 62 เซนต์ หรือ 0.74% ปิดที่ 83.6 ดอลลาร์/บาร์เรล
- ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันจะทรงตัวอยู่ที่ระดับปัจจุบันจนถึงปลายปี ผลสำรวจนักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์ 43 คน โดยรอยเตอร์ส คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบสหรัฐฯ จะอยู่ที่เฉลี่ย 80.46 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในปีนี้ เพิ่มขึ้นจากการคาดการณ์ที่ 78.09 ดอลลาร์ในเดือนมีนาคม
- Goldman Sachs คาดการณ์ว่าความต้องการน้ำมันจะเพิ่มขึ้นจนถึงปี 2034 โดยคาดว่าความต้องการจะอยู่ที่ 108.5 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2030 และเพิ่มเป็น 110 ล้านบาร์เรลในปี 2034