ข่าวคริปโตเคอร์เรนซี
- Solana แซงหน้า BNB! ขึ้นแท่นสกุลเงินดิจิทัลที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลกตามมูลค่าตลาด
- นักวิเคราะห์คาดกองทุน Spot Ethereum ETF มีโอกาส 50% ที่จะได้รับอนุมัติในเดือนพ.ค.
- ราคา Bitcoin พุ่งทะยานเหนือ 48,000 ดอลลาร์เป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี
- นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2021 ท่ามกลางการพุ่งขึ้นของราคานี้ส่งผลทำให้จำนวนกระเป๋าเงิน Bitcoin ที่อยู่ในโหมดกำไร (in profit) ได้เพิ่มขึ้นเกินกว่า 90%
ข่าวเกี่ยวกับค่าเงิน และธนาคารกลาง
- คณะกรรมการบริหารของธนาคารกลางยุโรป (ECB) เปิดเผยว่า ECB กำลังหารือกันว่า จะเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยหรือไม่ และเมื่อใด ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อที่ชะลอตัว และเศรษฐกิจที่ชะงัก โดย นายปิเอโร ซิโปลโลน กรรมการบริหารอีซีบี กล่าวว่า อีซีบีไม่จำเป็นต้องทำให้เศรษฐกิจในยูโรโซนชะลอตัวลงมากกว่านี้ เพื่อทำให้เงินเฟ้อควบคุมได้อีก
- กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ชี้ว่า ธนาคารกลางประเทศต่างๆ ควรดำเนินการอย่างระมัดระวังในการปรับลดดอกเบี้ย แม้อัตราเงินเฟ้อลดลงในหลายประเทศแล้ว และดูเหมือนว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่เป็นเรื่องสำคัญที่ธนาคารกลางต้องดำเนินการลดดอกเบี้ยอย่างระวัง ท่ามกลางความคาดหวังของนักลงทุน
ข่าวเศรษฐกิจสำคัญ
- ผลสำรวจของ Bank of America พบว่า นักลงทุนลดระดับการถือครองเงินสดลงสู่ 4.2% จาก 4.8% และเพิ่มสัดส่วนการถือครองหุ้นทั่วโลกขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 2 ปี เนื่องจากนักลงทุนไม่คาดการณ์อีกต่อไปว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งนับเป็นครั้งแรกตั้งแต่เดือนเม.ย. 2022
- กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนี CPI ทั่วไป (Headline CPI) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 3.1% ในเดือนม.ค. เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 2.9% จากระดับ 3.4% ในเดือนธ.ค. ส่วนดัชนี CPI พื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 3.9% ในเดือนม.ค. เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 3.7% จากระดับ 3.9% ในเดือนธ.ค.
- ทั้งนี้ หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนี CPI ประจำเดือนม.ค. นักลงทุนได้เลื่อนการคาดการณ์ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยออกไปเป็นเดือนมิ.ย. จากเดิมที่คาดว่าจะปรับลดในเดือนพ.ค. โดยล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนักเพียง 36.1% ในการคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในเดือนพ.ค. ซึ่งลดลงจากระดับ 58% ก่อนที่สหรัฐจะเปิดเผยดัชนี CPI พร้อมกับให้น้ำหนัก 74.3% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนมิ.ย.
- ผลสำรวจรอยเตอร์ เปิดเผยว่า นักยุทธศาสตร์คาดว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ซึ่งอยู่ที่ 4.17% ในช่วงนี้ จะทรงตัวในอีก 1 – 3 เดือนข้างหน้า ก่อนจะร่วงลงสู่ 3.87% ในช่วงสิ้นเดือน ก.ค. และร่วงลงสู่ 3.75% ในอีกหนึ่งปีข้างหน้า โดยได้รับแรงกดดันจากการคาดการณ์ที่ว่า เฟดอาจจะเริ่มต้นปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในการประชุมวันที่ 19-20 มี.ค. และเฟดอาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างรุนแรงในปี 2024 และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐประเภทอายุ 2 ปี ซึ่งอยู่ที่ระดับราว 4.47% ในปัจจุบัน อาจจะดิ่งลงสู่ 3.92% ภายในช่วงสิ้นเดือนก.ค. และอาจจะรูดลงต่อไปสู่ 3.47% ในอีกหนึ่งปีข้างหน้า
ข่าวเกี่ยวกับทองคำ
- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงในวันอังคาร หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ที่สูงกว่าคาด ซึ่งทำให้ตลาดวิตกกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะตรึงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงเป็นเวลานานกว่าที่คาดการณ์ไว้
- ราคาทองคำตลาดโลก ปรับตัวลดลง -26.16 เหรียญ หรือ -1.3% อยู่ที่ระดับ 1,992.87 เหรียญ
- สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 25.80 เหรียญ หรือ 1.27% ปิดที่ 2,007.20 เหรียญ
- สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 61.30 เซนต์ หรือ 2.69% ปิดที่ 22.154 เหรียญ
- สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 18.20 เหรียญ หรือ 2.03% ปิดที่ 878.90 เหรียญ
- กองทุนทองคำ SPDR วันก่อนหน้าขายออก 1.44 ตัน ปัจจุบันถือครองที่ 840.48 ตันภาพรวมเดือนกุมภาพันธ์ ขายสุทธิ 12.11 ตัน ขณะที่ปีนี้ ตั้งแต่ 1 ม.ค. – ปัจจุบัน ขายสุทธิ 40.07 ตัน
ข่าวน้ำมัน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันอังคาร (13 ก.พ.) โดยได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่าสถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลางจะส่งผลกระทบต่ออุปทานน้ำมัน อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันลดช่วงบวก เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐที่สูงเกินคาดอาจทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงเป็นเวลานานกว่าที่คาด
- สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 95 เซนต์ หรือ 1.24% ปิดที่ 77.87 ดอลลาร์/บาร์เรล
- สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 77 เซนต์ หรือ 0.94% ปิดที่ 82.77 ดอลลาร์/บาร์เรล
- สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า ราคาน้ำมันได้แรงหนุนโดยมีความขัดแย้งในตะวันออกกลางเป็นแรงกระตุ้นให้ราคาปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ความกังวลเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยทำให้ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นในวงจำกัด
- กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) เปิดเผยรายงานภาวะตลาดน้ำมันประจำเดือนก.พ. โดยระบุว่า อุปสงค์น้ำมันโลกจะขยายตัว 2.25 ล้านบาร์เรล/วันในปี 2567 และ 1.85 ล้านบาร์เรล/วันในปี 2568 ซึ่งตัวเลขคาดการณ์ดังกล่าวไม่เปลี่ยนแปลงจากรายงานที่มีการเปิดเผยในเดือนม.ค.
- นอกจากนี้ โอเปกเปิดเผยว่า การผลิตน้ำมันของโอเปกลดลง 350,000 บาร์เรล/วันในเดือนม.ค. สู่ระดับ 26.34 ล้านบาร์เรล/วัน ขณะที่ประเทศสมาชิกทำการปรับลดกำลังการผลิตตามสมัครใจ