logo

ทำความรู้จัก Copy Trade คัดลอกความสำเร็จจากคนที่สำเร็จ

เชื่อว่าตลอดหลายปีที่ผ่านมา เทรดเดอร์ทั้งมือเก่ามือใหม่หลายคนก็คงจะมีโอกาสได้ติดตามนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จอยู่บ้าง ส่วนหนึ่งก็เพื่อเกาะติดสถานการณ์ข่าวการเคลื่อนไหว แต่อีกส่วนหนึ่งก็เพื่อดูลาดเลาการลงทุน เพื่อจับแนวทางมาต่อยอดการลงทุนของตัวเอง อย่างเช่นพ่อมดนักลงทุนที่ทั่วโลกจับตามองอย่าง วอร์เรน บัฟเฟตต์ นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จและมีชื่อเสียงระดับโลกที่ในแต่ละปีจะมีการออกมาเปิดเผยข้อมูลพอร์ตลงทุนของตัวเองว่าลงทุนหุ้นอะไรบ้าง มีมุมมองต่อการลงทุนตัวไหนเป็นพิเศษไหม และกำลังให้ความสนใจซื้อหุ้นอะไรเพิ่มหรือไม่ หรืออย่างน้อยที่สุดก็ติดตามสัญญาณเทรด (Signal) ดี ๆ จากกลุ่มที่มีเทรดเดอร์มืออาชีพแวะเวียนกันมาบอกจุดเข้าซื้อ-ขายให้ได้เก็บกำไร เพราะเชื่อว่าการเทรดตามผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์ที่ยาวนานจะเพิ่มโอกาสเก็บกำไรได้มากกว่าการเทรดด้วยตัวเอง 

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2005 เรื่องราวของการเทรดเลียนแบบหรือ Copy Trade เกิดขึ้นจากการที่เทรดเดอร์เลียนแบบการเข้าซื้อ-ขายของอัลกอริทึมที่พัฒนาการเทรดแบบอัตโนมัติ โดยไม่ต้องรอสัญญาณทางอีเมลหรือห้อง ‘แชท’ ตลอดเวลา จนทำให้ความสนใจในการทำ Copy Trade ขยายวงกว้างอย่างรวดเร็ว ซึ่งต้องบอกว่าจริง ๆ แล้ว Copy Trade ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร เพราะต่างประเทศก็ทำมานานแล้ว และมีคนไทยบางคนไปเป็น Master ให้คนอื่นเทรดตามแล้ว ไม่ต่างกันกับนักกีฬา E-Sport ที่เล่นเกมส์เป็นอาชีพแล้วมีคน Follow ตาม แค่ต่างกันตรงที่การ Copy Trade เมื่อมีคนมา Follow ตามก็สามารถรับส่วนแบ่งกำไรจากผู้ที่สมัครติดตามเราได้ด้วย 

การที่เทรดเดอร์เลือกติดตามสัญญาณการเทรด หรือ พอร์ตของนักลงทุน ส่วนใหญ่แล้วมีเป้าหมายเดียวกันก็คือ ความคาดหวังที่จะมีโอกาสประสบความสำเร็จตามไปด้วย หรืออย่างน้อยก็จะได้รับผลตอบแทนที่เหมือนหรือใกล้เคียงกัน จึงเกิดสิ่งที่เรียกว่า ลอกเลียนแบบพอร์ตลงทุน หรือ Copy Trade ขึ้นเพื่อติดตามความเคลื่อนไหวการลงทุนของนักเทรดมืออาชีพที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งปัจจุบันได้มีนักเทรดมืออาชีพจำนวนไม่น้อยที่มีผลงานการเทรดยอดเยี่ยม และออกมาเป็น Master ให้ผู้อื่นสามารถเทรดตาม ทำให้แม้ผู้ตามจะไม่มีความรู้ ประสบการณ์ หรือเวลาในการเทรด ก็สามารถเก็บกำไรแบบมืออาชีพได้ และยังสามารถกำหนดความเสี่ยง ควบคุมบริหารจัดการคำสั่ง ซื้อ-ขาย ได้อย่างยืดหยุ่นอีกด้วย 

จริงอยู่ที่การลอกเลียนพอร์ตลงทุนหรือติดตามความเคลื่อนไหวการลงทุนของนักลงทุนมืออาชีพที่ประสบความสำเร็จ อาจมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จตามไปด้วย แต่สิ่งสำคัญก็คือตัวผู้ Copy ก็ควรจะศึกษาเรียนรู้แนวคิดและวิธีการควบคู่ตามไปด้วย เช่น การบันทึกการเทรดลงในสมุด เช่น ซื้อขายผลิตภัณฑ์อะไร, ซื้อขายเท่าไร, กี่ Lot, ขายที่ราคาเท่าไร รวมไปถึงศึกษาข้อมูลปัจจัยพื้นฐานและปัจจัยเทคนิคของผลิตภัณฑ์แต่ละตัว จากนั้นก็นำมาพัฒนาหลักการลงทุนของตัวเอง เพื่ออัประดับเป็นนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จอีกคนหนึ่ง    

อีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่จะไม่พูดถึงไม่ได้ ก็คือก่อนที่จะไปทำการ Copy Trade ใคร เราต้องเลือกคนที่เราจะทำการ Copy ก่อน ซึ่งแน่นอนอยู่แล้วว่าเราก็ต้องเลือกนักลงทุนอาชีพที่ประสบความสำเร็จในการลงทุน ลงทุนแล้วสามารถทำกำไรได้ดีและสม่ำเสมอ ที่สำคัญคือต้องมีสไตล์และเป้าหมายการลงทุนที่เหมือนหรือใกล้เคียงกัน เช่น ถ้าชอบสนใจให้ผลิตภัณฑ์ทองคำ เราก็ควรเลือก Copy เทรดเดอร์สายทองคำ หรือหากชอบเทรดสายคริปโต ก็ควร Copy เทรดเดอร์สายคริปโตด้วยกัน เพื่อให้เป้าหมายการเทรด และการศึกษาของเราตรงกัน ก็จะช่วยให้เราสามารถเรียนรู้แนวทางการเทรดได้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น 

เมื่อได้คนที่เราจะทำการ Copy Trading แล้ว สิ่งต่อมาก็คือการศึกษากลยุทธ์การจัดพอร์ตลงทุนในอดีตที่ผ่านมาว่ามีผลงานเป็นอย่างไร ช่วงไหนทำผลงานได้ดี ช่วงไหนสร้างผลงานไม่ดีหรือขาดทุน เพื่อทำความเข้าใจกลยุทธ์การลงทุน รวมถึงการให้ข้อมูล บทสัมภาษณ์ที่เกี่ยวกับการจัดพอร์ต การประเมินสถานการณ์ และแนวโน้มต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการลงทุน เพื่อเห็นถึงแนวคิดการลงทุนในปัจจุบันและอนาคต  

สำหรับวิธีการ Copy Trading มีหลายรูปแบบ เช่น ลงทุนตามเป๊ะ ๆ แบบ 100% โดยหากเทรดเดอร์ที่เราทำการ Copy Trading เลือกกระจายความเสี่ยงในผลิตภัณฑ์ 5 ตัว เราก็เทรดตามทั้ง 5 ตัว หรือลอกเลียนวิธีจัดสรรเงินลงทุน จากนั้นก็แบ่งเงินลงทุนตามสัดส่วนดังกล่าว เป็นต้น 

หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน 

Facebook
Twitter
Email

ข่าวสารเพิ่มเติม

วิเคราะห์ทองคำประจำวันที่ 30/04/2024

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันจันทร์ โดยได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์ และการชะลอตัวลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตร ขณะที่นักลงทุนจับตาการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และการแถลงข่าวของนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้แนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้

อ่านเพิ่มเติม