logo

เงินเฟ้อคืออะไร ?

เงินเฟ้อ คือ การวัดว่าราคาของสินค้า และบริการที่เพิ่มขึ้น เมื่อเวลาผ่านไป หรือถ้าจะพูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ การที่สินค้าหรือบริการมีราคาที่สูงขึ้นนั้นเอง ซึ่งอัตราเงินเฟ้อ จะเปรียบเทียบราคาของสินค้าและบริการในปัจจุบันกับราคาเมื่อ 1 ปีก่อนหน้า เช่น ปัจจุบันข้าวสาร 1 ถุง ราคา 103 บาท แต่ในปีที่แล้วราคา 100 บาท แปลว่าอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 3%

3 สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อทั่วโลกที่เผชิญอยู่ตอนนี้

1.วิกฤตโรคระบาด COVID-19
การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้เกิดปัญหาการขาดแคลนหมุนเวียนกำลังแรงงาน เพื่อที่หลีกเลี่ยงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้ภาคการผลิตมีกำลังการผลิตลดลง
2.นโยบายทางการเงินของธนาคารกลาง
ผลกระทบจากนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางที่ก่อนหน้านี้มีการอัดฉีดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจ เพื่อลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 และเพื่อให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้ไวที่สุด
3.สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน
เนื่องจากสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนเริ่มบานปลาย ทำให้หลายประเทศมีมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียเพื่อกดดันให้รัสเซียยุติสงคราม รัสเซียที่มีฐานะเป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลกจึงตอบโต้ด้วยการลดกำลังการผลิตน้ำมัน และแก๊สธรรมชาติ ส่งผลให้ราคาพลังงานทั่วโลกพุ่งสูงขึ้น ต้นทุนการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้น เลยทำให้เกิดเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นนั่นเอง

อัตราเงินเฟ้อวัดได้อย่างไร ?

ทุกเดือน กระทรวงพาณิชย์จะเก็บข้อมูลราคาสินค้าและบริการจำนวน 430 รายการ มาคำนวณเป็นดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index: CPI) การเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาผู้บริโภคเทียบกับปีก่อน คืออัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ ธปท. ใช้เป็นเป้าหมาย

อัตราเงินเฟ้อส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจอย่างไรบ้าง ?

ในทางทฤษฎีเศรษฐศาสตร์บอกว่าการที่เงินเฟ้อเล็กน้อยเป็นสิ่งที่ดีต่อระบบเศรษฐกิจ เพราะเมื่อสินค้ามีราคาเพิ่มขึ้นจะช่วยให้ธุรกิจมีแนวโน้มเติบโต จูงใจให้เกิดการลงทุน มีการจ้างงาน มีเงินหมุนเวียนในระบบมากขึ้น
ในทางกลับกันถ้าอัตราเงินสูงขึ้นอย่างมากจะส่งผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจ เพราะ เมื่อสินค้าราคาแพงขึ้นมาก ทำให้ผู้บริโภคซื้อของได้น้อยลง การลงทุนลดลง เนื่องจากต้นทุนสูงขึ้นและความสามารถในการทำกำไรลดลง นโยบายการเงินตึงตัวขึ้นจะเป็นความเสี่ยงต่อภาระหนี้ ที่อยู่ในระดับสูงในหลายประเทศ ประเทศที่นำเข้าสูง มีแนวโน้มขาดดุลเพิ่มขึ้น รายได้ที่แท้จริงลดลง กระทบการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน

เงินเฟ้อส่งผลกระทบต่อราคาทองคำอย่างไร?

ราคาทองคํามักปรับตัวสูงขึ้นเมื่ออัตราเงินเฟ้อส่งสัญญาณปรับตัวสูงขึ้น โดย อัตราผลตอบแทนจากทองคำมักถูกมองว่า สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ เนื่องจากประเด็นทางภูมิรัฐศาสตร์ ประเด็นความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลต่อความไม่แน่นอนที่สูงขึ้น และในบางสถานการณ์ราคาทองคำอาจมีการปรับตัวลดลงจากนโยบายการเงินของเฟด

ทำไมราคาทองคำจึงมีการปรับตัวลดลง ?

เนื่องจากเฟดหรือธนาคารกลางสหรัฐ ต้องการควบคุมเงินเฟ้อให้อยุ่ในระดับที่เหมาะสมและเศรษฐกิจสามารถเติบโตได้โดยไม่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย เฟดจึงได้มีนโยบายเร่งปรับอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อที่พุ่งสูงเกินกว่าที่เฟดคาดไว้ 3 เท่า จากเป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2%
ในสถานการณ์ปัจจุบันเราต้องเผชิญกับปัญหาอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นอย่างมาก ธนาคารกลางมีเครื่องมือหรือกลไกอะไรที่สามารถใช้แก้ปัญหาอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นอย่างมาก ?
ตามหลักเศรษฐศาสตร์ เมื่อเกิดเงินเฟ้อรูปแบบนี้ ธนาคารกลางของประเทศมักจะแก้ปัญหาโดยเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เป็นการดูดซับสภาพคล่องหรือดูดเงินออกจากระบบการเงิน เพื่อให้ภาวะการเงินตึงตัว แล้วธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งก็จะเพิ่มสภาพคล่องของตนเอง โดยการปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากให้สูงขึ้น เพื่อระดมเงินฝากมากขึ้น และปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามต้นทุนที่สูงขึ้นด้วย
การที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากสูงขึ้นจะจูงใจให้คนนำเงินไปฝากธนาคารมากขึ้นและใช้จ่ายน้อยลง ขณะเดียวกัน อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงขึ้นก็ทำให้คนกู้เงินน้อยลง รวมทั้งภาคธุรกิจก็จะมีการกู้เงินมาลงทุนน้อยลงด้วย เมื่อเงินในระบบน้อยลง ความต้องการสินค้าและบริการลดลง จะส่งผลให้ระดับราคาสินค้าลดลง เป็นการชะลอเงินเฟ้อนั่นเอง
นอกจากนั้น การขึ้นดอกเบี้ยจะทำให้สกุลเงินของประเทศนั้นๆ แข็งค่าขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าลดลง ซึ่งจะช่วยลดราคาสินค้าลงได้อีกทางหนึ่ง แต่ขณะเดียวกันก็อาจจะมีการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมาก ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศลดลง

ประเทศใหญ่ๆ ขึ้นดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อแล้ว ทำไมไทยไม่ขึ้น ?

สหรัฐฯ เป็นประเทศแรกๆ ที่ประสบปัญหาเงินเฟ้อสูงเมื่อปีที่แล้ว เนื่องจากเศรษฐกิจฟื้นตัวดี อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ในเดือนเมษายน 2022 อยู่ที่ 8.3 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดในรอบ 40 ปี Fed (Federal Reserve System) ธนาคารกลางของสหรัฐฯ แก้ปัญหาโดยทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแล้วสองครั้ง ครั้งแรกปรับขึ้น 0.25 เปอร์เซ็นต์ ในเดือนมีนาคม และครั้งที่สองในเดือนพฤษภาคมปรับขึ้น 0.50 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ขึ้นมาอยู่ที่ 0.75-1 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มจากเมื่อต้นปีที่อยู่ในอัตรา 0.00-0.25 เปอร์เซ็นต์
ขณะที่สหราชอาณาจักรที่เจอเงินเฟ้อหนักหน่วงถึง 9.0 เปอร์เซ็นต์ นับว่าสูงสุดในรอบ 40 ปี ธนาคารกลางของสหราชอาณาจักร (Bank of England) ก็ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว 3 ครั้ง ครั้งละ 0.25 เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์มาถึงเดือนพฤษภาคม จากเมื่อต้นปีที่อัตราดอกเบี้ย 0.25 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ตอนนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของอังกฤษอยู่ที่ 1.0 เปอร์เซ็นต์
โดยสาเหตุที่ประเทศไทยยังไม่ปรับอัตราดอกเบี้ย เพราะธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) EIC คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายตลอดปีนี้ เนื่องจากยังให้ความสำคัญกับภาวะเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งยังคงเปราะบางและอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าช่วงก่อน โควิด-19 มากกว่าแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจากปัจจัยด้านอุปทานเป็นหลัก นอกจากนี้ ไทยยังมีภาระหนี้ที่สูงขึ้นโดยเฉพาะหนี้ครัวเรือนของไทย ทำให้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มกระทบต่อการบริโภคและการลงทุนมากกว่าในอดีต ดังนั้นคณะกรรมการจึงจะระมัดระวังการปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงที่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังต้องการแรงสนับสนุนต่อไป

รู้หรือไม่?

อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้เงินที่มีซื้อของได้น้อยลง และถ้าวันนี้คุณมีเงินอยู่ 100 บาท นั่นหมายความว่าคุณอาจซื้อข้าวได้แค่ 1 กล่อง จากที่เคยซื้อได้ 2 – 3 กล่องในปีที่แล้ว ดังนั้นควรวางแผนการเงิน การลงทุน หรือการเก็บออมเงินไว้อย่างรอบคอบ

Facebook
Twitter
Email

ข่าวสารเพิ่มเติม

ราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะระดับ 1893 ดอลลาร์ เนื่องจากความกังวลการล่มละลายของธนาคาร Silicon Valley Bank

นักลงทุนจับตาการปิดตัวลงของธนาคาร Silicon Valley Bank (SVB) และท่าทีของเฟดในการรับมือกับปัญหาดังกล่าว

อ่านเพิ่มเติม

นักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อในคืนนี้ เพื่อหาทิศทางการปรับดอกเบี้ยของเฟด

นักลงทุนจับตาการประกาศตัวเลขดัชนี CPI ในวันคืนนี้ และตัวเลขดัชนี PPI ในวันพรุ่งนี้ เพื่อประเมินแนวโน้มเงินเฟ้อและหาสัญญาณบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟด

อ่านเพิ่มเติม